การสร้างบ้านจะเริ่มต้น และมีขั้นตอนย่างไร เป็นคำถามที่น่าสนใจ ผมจึงรวบรวมข้อมูลโดยรวม ซึ่งเหมาะกับเจ้าของบ้านที่กำลังจับต้นชนปลายเริ่มอยากสร้างบ้านอย่างไรดีให้เห็นภาพชัดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนต่อไป โดยนำมาจากประสบการณ์และความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะสถาปนิกที่ปรึกษออกแบบและอำนวยการก่อสร้าง มานำเสนอในบทความนี้
หากทางเจ้าของบ้านมีจุดประสงค์จะสร้างบ้านซักหลัง จะมีองค์ประกอบสำคัญอะไรบ้าง ?
1. งบประมาณค่าก่อสร้าง
จะเป็นสิ่งสำคัญหลักซึ่งเป็นกุญแจสู่ขั้นตอนต่อไป โดยอาจคิดไปพร้อมๆ กันกับการออกแบบให้สอดคล้องกับงบที่มีอยู่
โดยตัวอย่าง หลักคิดค่าก่อสร้างบ้านพักอาศัยประมาณ 2 ชั้นรูปแบบมาตรฐาน มีขอบเขตงานโครงสร้าง งานสถาปัตย์ งานระบบขั้นพื้นฐาน ไม่รวมงานเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งภายใน และจัดสวนปัจจุบัน (ปี 2558-60) เฉลี่ยตารางเมตรละ 12,0000-15,000 บาท ซึ่งหลักการอาจยังไม่เห็นภาพชัดนักในขั้นตอนนี้ แต่ควรมีกรอบไว้เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในแผน เช่น ต้องการสร้างบ้าน 2 ชั้น พื้นที่อาคาร ประมาณ 200 ตรม.x 12,000 บาท = 2,400,000 บาท โดยในขั้นตอนนี้ควรกำหนด ความต้องการจากสมาชิกผู้ใช้งานไว้ในใจด้วย เช่น ต้องการ 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ที่จอดถ 2 คัน ครัว โถง รับแขก พักผ่อน คนใช้ เป็นต้น หรือสามารถปรึกษาสถาปนิกในขั้นออกแบบเพิ่มเติม
หมายเหตุ ราคาดังกล่าวไม่รวมค่าดำเนินการ เช่น ค่าออกแบบ ค่าควบคุมงานก่อสร้างและอื่นๆ อีกประมาณ 10-15%
2. ที่ดินที่ปลูกสร้างอาคาร
ความพร้อมที่ดิน ที่ควรมีเพื่อการก่อสร้าง
- เป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน ไม่ติดจำนองหรืออื่นๆ ซึ่งหากไม่ใช่เจ้าของที่ดินจะต้องให้เจ้าของที่ดินเซ็นยินยอมเพื่อการขออนุญาตและก่อสร้างก่อน
- ระดับที่ดินเปรียบเทียบกับถนนสาธารณะควรปรับถมให้สูงกว่าอย่างน้อย 30 ซม. เพื่อป้องกันน้ำท่วม และควรตรวจสอบแนวทางเข้าออก ตำแหน่งเสาไฟฟ้า ท่อระบายน้ำและอื่นๆ
- ระยะและพื้นที่ขนาดที่ดิน จะต้องตรงตามโฉนด รวมถึงไม่ล้ำเขตอาคารข้างเคียงหาก หากไม่ตรงให้แจ้งทางที่ดินเพื่อตรวจสอบและยืนยันการสอบเขต ซึ่งขั้นตอนนี้อาจใช้ช่างสำรวจเอกชนตรวจสอบในขั้นตอนแรกก่อนได้ หากเจอข้อผิดพลาดค่อยประสานงานทางที่ดินซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก
- ข้อเสนอแนะรูปร่างที่ดิน หากที่ดินแคบมากๆ อาจเกิดปัญหาในการกำหนดอาคารตั้งแต่การออกแบบเนื่องจากต้องเว้นระยะตามกฎหมาย และเมื่อเว้นแล้วจะเหลือพื้นที่สร้างอาคารน้อยมากก็ไม่คุ้มในการการลงทุนสร้างอาคาร รูปร่างที่ดี ควรเป็นเป็นรูปสี่เหลียมผืนผ้า สัดส่วน 2:3 หันด้านยาวรับทิศเหนือใต้เพื่อออกแบบอาคารไห้สอดคล้องกับทิศทางแดด ลมได้ง่าย หรือสี่เหลี่ยมจตุรัส หรือสี่เหลี่ยมคางหมูปากทางเข้าแคบกว่าด้านหลัง ตามหลักฮวงจุ้ยว่าดีเหมือนถุงเก็บเงิน ซึ่งแล้วแต่ความเชื่อ โดยระยะแคบสุดของที่ดินไม่ควรต่ำกว่า 8 เมตร
- ควรตรวจสอบอาคารเดิมรวมถึงต้นไม้เดิม รั้วและขอบเขต หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการออกแบบ
3. แบบก่อสร้าง ควรออกแบบโดยสถาปนิก และวิศวกร
ขั้นตอนการออกแบบเพื่อจัดทำแบบก่อสร้าง เป็นการนำข้อมูลจากข้อ 1 และ 2 มาดำเนินการ โดยมีวิธีดังนี้
3.1 หาสถาปนิกที่ไว้ใจได้ในการออกแบบ โดยคุณสมบัติสถาปนิกที่เหมาะสม
- จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งแบ่งระดับได้ตามประสบการณ์และ อาวุโส หรือจะเลือกเป็นบริษัทออกแบบที่น่าเชื่อถือ
- ถ้าเป็นสถาปนิกอิสระราคาค่าบริการอาจถูกลงมา แต่ต้องยอมรับคุณภาพในการให้บริการ
- ถ้าจ้างเป็นบริษัทสถาปนิก ราคาค่าบริการอาจจะแพงกว่า แต่มีโอกาศได้คุณภาพงานและการบริการ ด้วยทีมงานและชื่อเสียงบริษัทซึ่งจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพนิติบุคคล
- แหล่งที่มาของสถาปนิก
กรณีเป็นบริษัทจะหาได้ง่ายโดยจะมีรายชื่อในเวปของสภาถาปนิก สมาคมสถาปนิก หรือผลงานบริษัทที่มีชื่อเสียงตามสื่อต่างๆ ซึ่งจะได้เห็นผลงานของบริษัทเพื่อสร้างความมั่นใจด้วย
กรณีเป็นสถาปนิกอิสระ มีที่มา เช่น การบอกต่อจากเพื่อนที่เคยใช้บริการ การหาในเวปไซต์ หรือหนังสือนิตยสาร ต่างๆ เป็นต้น
3.2 ค่าบริการวิชาชีพออกแบบ มีวิธีคิดตามเกณ์ที่สมาคมสถาปนิกฯ กำหนดไว้ โดยขอสรุปมา กรณีบ้านพักอาศัยราคาค่าก่อสร้างตามขอบเขตงานที่ออกแบบ ไม่เกิน 10 ล้านบาท สามารถคิดค่าออกแบบได้ไม่เกิน 7.5 % ของค่าก่อสร้าง เช่น ค่าก่อสร้าง 2,400,000 บาท 7.5%=108,000 บาท โดยขอบเขตงานที่ได้ งานโครงสร้าง งานสถาปัตย์ และงานระบบขั้นพื้นฐาน หรือตกลงตามต้นทุนการทำงาน
- ราคาค่าบริการวิชาชีพออกแบบ
กรณีเป็นบริษัท ประมาณ 7-10 %
กรณีเป็นสถาปนิกอิสระ ประมาณ 5-7.5 %
ราคาดังกล่าวเป็นการประมาณซึ่งอาจปรับตามตกลงและการตัดงานบางส่วนออก ซึ่งบางที่อาจจะไม่รวมงานโครงสร้าง และงานระบบ เป็นต้นและวิธีคิดบางท่านคิดตามระยะเวลาการทำงานเป็นเดือน หรือคิดตามปริมาณพื้นที่ให้ออกแบบเพื่อง่ายในการตกลงรับงาน เพราะในช่วงแรกไม่สาราถทราบราคาค่าก่อสร้างได้ก่อนแต่ทราบพื้นที่การออกแบบ เช่น 540 บาท x 200 ตารางเมตร = 108,000 บาท ก็ได้เช่นกัน ครับ
3.3 ขั้นตอนการทำงานและการเบิกงวดโดยประมาณ
1. เซ็นสัญญาออกแบบหรือเอกสารการจ้างงาน เบิกประมาณ 10 %
2. สรุปแนวความคิดในการออกแบบ เบิกประมาณ 25 % (เสนอแนวคิดการออกแบบ รูปร่าง เพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินการพัฒนาต่อไป)
3. ส่งสรุปแบบร่าง เบิกประมาณ 30 % (เสนอแบบที่ชัดเจนขึ้น แปลน รูปด้าน รูปตัด ระยะต่าง ตัวอย่างวัสดุ ร่างทัศนียภาพ ค่าก่อสร้างเบื้องต้น และอื่นๆ)
4. ส่งแบบเพื่อการก่อสร้างและขออนุญาต เบิกประมาณ 30 % (เสนอแบบที่ชัดเจน แบบขยาย หมวดสถาปัตย์ โครงสร้าง ไฟฟ้า และสุขาภิบาล รายการประกอบแบบ ผังบริเวณ ตารางประมาณราคา BOQ (แล้วแต่ตกลง) รายการคำนวนโครงสร้าง สถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบเซ็นลงนามเพื่อการขออนุญาติและการก่อสร้าง)
5. ประสานการก่อสร้างตามสมควรจนอาคารเสร็จ เบิกประมาณ 5 % (ตอบคำถาม และเข้าพื้นที่หน้างานตามเหมาะสมเพื่อขอความเห็น)
ทั้งนี้จำนวนการสำเนาส่งแบบและปริมาณแบบแล้วแต่ตกลงและมาตรฐานของผู้ออกแบบ รวมถึงการให้ไฟล์ต้นฉบับ โดยระยะเวลาการทำงานประมาณ 3-4 เดือน หากมีการแก้ไขหรือเพิ่มเติมภายหลังผู้ออกแบบสามารถคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ตามสมควร
4. การขออนุญาตปลูกสร้าง
คือการส่งแบบและเอกสารเพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น (กทม สำนักงานเขต เทศบาล อบต อื่นๆ) ออกใบอนุญาต และสามารถนำเอกสารไปขอบ้านเลขที่ ขอน้ำขอไฟ รวมถึงเป็นเอกสารแจ้งเจ้าหน้าที่กรณีมาตรวจสอบหน้างาน และใช้เป็นหลักฐานแจ้งให้อาคารข้างเคียงรับทราบ และอื่นๆ
โดยจะต้องจัดเตรียมเอกสารดังนี้
1. กรอกแบบฟอร์มขออนุญาตก่อสร้าง ข1
2. โฉนดที่ดิน มาตราส่วนจริง ถ่ายสำเนาทุกหน้า
3. สำเนาแบบก่อสร้าง (พิมพ์เขียว) พับเป็น A4 โดยสถาปนิกและวิศวกรเซ็นรับรอง จำนวน 5 ชุด
4. สำเนาใบประกอบวิชาชีพสถาปนิก และวิศวกรผู้ออกแบบ พร้อมเซ็นรับรอง
5. แบบฟอร์มรับรองสถาปนิก วิศวกรผู้ออกแบบ
6. เอกสารตามข้อ 4,5 ในฐานะผู้ควบคุมงาน หรือเจ้าของบ้านอาจรับรองแทนได้ สำหรับอาคารไม่เกิน 150 ตรม.
7. เอกสารเจ้าของบ้านผู้ขอ สำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นๆ
8. รายการคำนวนโครงสร้าง พร้อมวิศวกรผู้ออกแบบเซ็นรับรองทุกหน้า จำนวน 1 ชุด
9. ค่าธรรมเนียมการขออนุญาต ตามพื้นที่อาคารและท่อระบายน้ำ
10. อื่นๆ
โดยหลังจากขออนุญาตหากไม่ติดข้อกฎหมายหรือแบบผิด ทางเจ้าหน้าที่จะออกใบอนุญาติก่อสร้างอาคาร ซึ่งระยะเวลาช้าเร็วขึ้นอยู่กับคิวงานและการประสานงาน โดยขั้นตอนนนี้จะเกิดช่องว่างการจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ได้เร็วขึ้น
5. ผู้รับเหมาก่อสร้าง และการวางแผนควบคุมงานที่เหมาะสม
ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับเหมาควรมีที่ปรึกษาควบคุมงานและวางแผนการก่อสร้างเพื่อลดปัญหาและให้งานเป็นไปตามแผนแทนเจ้าของ ทั้งนี้งานขนาดเล็กราคาค่าก่อสร้างไม่เกิน 1 ล้านบาทอาจไม่จำเป็นเนื่องจากความซับซ้อนน้อยกว่า
5.1 การคัดเลือกผู้รับเหมา (งานบ้าน)
- แหล่งที่มาผู้รับเหมา เช่น จากการบอกต่อ หรือค้นหาในเวปไซต์ หรือสื่ออื่นๆ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
งานก่อสร้างขนาดเล็ก ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท อาจเป็นช่างทั่วไปได้ ข้อดีราคาไม่สูงมาก ข้อเสียความเป็นมืออาชีพในการทำงานอาจน้อย
งานก่อสร้างขนาดกลาง ราคา 1-5 ล้านบาท อาจเป็นช่างรับเหมาที่น่าเชื่อถือ หรือบริษัทขนาดเล็ก ราคาปานกลาง การทำงานและคุณภาพปานกลาง
งานก่อสร้างขนาดใหญ่ ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไป ควรใช้บริษัทรับเหมาขนาดเล็กหรือขนาดกลางตามมูลค่างาน ข้อเสียราคาสูง ข้อดีความเป็นมืออาชีพในการทำงานสูง
- คุณสมบัติผู้รับเหมา
ต้องมีประวัติผลงานประเภทที่ต้องการให้ก่อสร้าง อย่างน้อย 3 งาน
มีทีมงานช่าง สถาปนิก วิศวกรหรือหัวหน้าช่างควบคุม
มีอุปกรณ์ เครื่องมือการก่อสร้าง รวมถึงยานพาหนะที่จำเป็น
มีเงินทุนในการก่อสร้าง ที่สามารถสำรองได้ไม่น้อยกว่า 25% มูลค่างาน
ซึ่งในกรณีเป็นบริษัทก่อสร้างจะสามารถขอตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย
5.2 การเสนอราคา
การเรียกผู้รับเหมาเพื่อเชิญเสนอราคา ทางเจ้าของโครงการควรกำหนดรายชื่อผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติตรงตามต้องการ มาอย่างน้อย 3 แหล่ง เพื่อเปรียบเทียบราคา และควรทำขอบเขตงาน (TOR) ในรูปเอกสารให้ชัดเจนเพื่อส่งให้ผู้รับเหมาทุกเจ้าเป็นข้อมูลและสามารถกรอกราคาได้เลย ดังนี้
- หนังสือเชิญเสนอราคา ระบุขอบเขตงาน ประเภทงาน ระยะเวลาแต่ละขั้นตอน (TOR)
- แบบก่อสร้างและรายการประกอบแบบเพื่อใช้คิดราคา (Drawing for construction)
- ตารางปริมาณงานและวัสดุ (Blank BOQ)
- ภาพถ่ายสถานที่ก่อสร้าง
- แบบฟอร์มให้แสดงประวัติผลงานของผู้รับเหมา รวมถึงเอกสารต่างๆ
- ข้อจำกัดต่างๆ และอื่นๆ
ทั้งนี้หากเป็นงานขนาดเล็กเจ้าของควรทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเสนอราคา เช่น สามารถส่งข้อมูลทาง E mail หรือไปรษณีย์ และโทรศัพท์สอบถามได้เพื่อความสะดวกแต่หากเป็นงานขนาดใหญ่หรืองานราชการ จะต้องให้ผู้ที่สนใจซื้อซองประกวดราคา ดูสถานที่ก่อสร้าง และชี้แจงตอบข้อซักถามต่างๆ เป็นต้น
5.3 การเซ็นสัญญาก่อสร้าง
โครงสร้างหลักของ สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง มีดังนี้
- ชื่อสัญญา เพื่อกระทำสิ่งใดหรือจ้างให้ทำอะไร
- ระบุผู้ว่าจ้าง ที่อยู่
- ระบุผู้รับจ้าง ที่อยู่ บุคคล/นิติบุคคล
- ความต้องการของสัญญา ขอบเขตความต้องการให้ดำเนินการอะไร ที่ใหน อย่างไร เป็นเงินทั้งหมดเท่าไร
- เอกสารแนบสัญญา แบบก่อสร้าง แผนงาน สำเนาบัตรประชาชนผู้ว่าจ้าง และผู้รับจ้าง หรือเอกสารจดทะเบียนกรณีเป็นนิติบุคคล
- การแบ่งจ่ายงวด กี่งวด เท่าไร ซึ่งแล้วแต่ตกลง ตัวอย่างการแบ่งที่ง่ายและไม่ซับซ้อน เป็น 10 งวดเท่าๆ กันดังนี้
งวดที่ 1 (10%) เป็นเงิน............บาท (หักประกันผลงานไว้10%)
โดยมีรายการงานดังนี้
1.1 เซ็นสัญญาการก่อสร้าง
1.2 ทำการปรับพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง
1.3 เตรียมพื้นที่เก็บอุปกรณ์รวมถึงเครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ
1.4 ต่อเชื่อมระบบสาธารณูปโภคที่จะใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา
1.5 กั้นขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างให้ชัดเจน กำหนดตำแหน่งทำงาน และกองวัสดุอุปกรณ์ให้ชัดเจนในพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่ส่งผลรบกวนต่ออาคารข้างเคียงและโดยรอบ
งวดที่ 2 (10%) เป็นเงิน............บาท (หักประกันผลงานไว้10%)
โดยมีรายการงานดังนี้
2.1 งานปรับผังและเตรียมดินรวมทั้งปรับระดับให้ตรงตามแบบเพื่อเช็คแนวเสารวมถึงการปรับดินสำหรับทำงานเข็มและฐานราก
2.2 งานเข็มตามแบบโครงสร้างโดยอยู่ในความเห็นชอบผู้ตรวจงาน พร้อมทำเข็มและโครงสร้างรับบ่อและถังบำบัด
2.3 งานฐานราก และเสาตอม่อตามแบบโครงสร้างโดยอยู่ในความเห็นชอบผู้ตรวจงาน
งวดที่ 3 (10%) เป็นเงิน............บาท (หักประกันผลงานไว้10%)
โดยมีรายการงานดังนี้
3.1 งานคานคอนกรีต
3.2 งานเสาคอนกรีต
3.3 งานพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปและชนิดหล่อในที่ พื้นเฉลียง และหรือบันไดคอนกรีต
3.4 งานระบบท่อกำจัดปลวก เตรียมงานเดินท่อในอาคาร และส่วนที่จะต้องฝังในโครงสร้างหรือแนวช่องท่อ
งวดที่ 4 (10%) เป็นเงิน............บาท (หักประกันผลงานไว้10%)
โดยมีรายการงานดังนี้
4.1 งานอะเสรัดหัวเสาและงานโครงสร้างหลังคาเหล็กพร้อมเคลือบสีกันสนิม
4.2 งานมุงกระเบื้องหลังคา และติดตั้งอุปกรณ์ เช่น เชิงชาย ไม้ปิดเชิงชาย ครอบลอนหลังคา ครอบสันหลังคา แผ่นกันนก แผ่นสะท้อนความร้อน และต้องทำการทดสอบรอยรั่ว
งวดที่ 5 (10%) เป็นเงิน............บาท (หักประกันผลงานไว้10%)
โดยมีรายการงานดังนี้
5.1 งานตั้งวงกบไม้
5.2 งานก่อผนังทั้งหมด รวมทั้งสาเอ็นและคานทับหลัง คสล.
5.3 งานระบบท่อต่างๆ ในผนัง เช่น ท่อร้อยสายไฟในผนัง ตำแหน่องบล็อกไฟฟ้า ปลั๊ก สวิซต์ และท่อน้ำต่างๆ
5.4 งานจับเซี้ยม และฉาบผิวผนัง เตรียมพื้นที่ติดตั้งกระจกอลูมิเนียม
งวดที่ 6 (10%) เป็นเงิน............บาท (หักประกันผลงานไว้10%)
โดยมีรายการงานดังนี้
6.1 งานติดตั้งกระจกอลูมิเนียม บานประตูไม้ และอุปกรณ์
6.2 งานวัสดุบุผนังทั้งหมด เช่น กระเบื้อง
6.3 งานวัสดุปูพื้นทั้งหมด เช่น กระเบื้อง
งวดที่ 7 (10%) เป็นเงิน............บาท (หักประกันผลงานไว้10%)
โดยมีรายการงานดังนี้
7.1 งานติดตั้งสุขภัณฑ์ในห้องน้ำทั้งหมด
7.2 งานร้อยสายไฟในท่อ และใต้ฝ้าเพดานทั้งหมดพร้อมกำหนดจุดติดตั้งดวงโคมและอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด
7.3 งานฝ้าเพดานภายในทั้งหมดรวมทั้งฉนวนกันความร้อน
7.4 งานฝ้ารอบชายคา เฉลียง และโดยรอบ
งวดที่ 8 (10%) เป็นเงิน............บาท (หักประกันผลงานไว้10%)
โดยมีรายการงานดังนี้
8.1 งานติดตั้งบ่อบำบัดสำเร็จรูป และบ่อพัก บ่อดักไขมันและแนวท่อระบายน้ำทิ้งสู่ทางสาธารณะ
8.2 งานติดตั้งดวงโคมพร้อมปลั๊กและสวิตซ์ แผงควบคุมอัตโนมัติ รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด
8.3 งานติดตั้งเครื่องปั้มน้ำ ถังน้ำสำรองจำนวนและขนาดตามแบบ
งวดที่ 9 (10%) เป็นเงิน............บาท (หักประกันผลงานไว้10%)
โดยมีรายการงานดังนี้
9.1 งานสีผนัง และสีไม้ทั้งหมดรวมถึงการเก็บงานผิวคอนกรีตทั้งภายในและภายนอกอาคาร
9.2 งานทาสีผนังฝ้าเพดาน และในส่วนเคลือบเงาหรือย้อมสีธรรมชาติ ภายในและภายนอกอาคาร
9.3 งานอื่นๆ
งวดที่ 10 (10%) เป็นเงิน............บาท (หักประกันผลงานไว้10%)
โดยมีรายการงานดังนี้
10.1 เก็บรายละเอียดผิวผนังทั้งหมด
10.2 เก็บรายละเอียดผิวพื้นทั้งหมด
10.3 งานปรับระดับดิน และโดยรอบในพื้นที่ทั้งหมด
10.4 ทำความสะอาดหน้างานและทดลองใช้ ระบบน้ำ ไฟ และระบบระบายน้ำทิ้ง รวมถึงคุณภาพสุขภัณฑ์ และรอยรั่วซึมต่างๆ
10.5 การตรวจสอบคุณภาพสี
10.6 การทดสอบรอยรั่วซึมและคุณภาพวัสดุมุงหลังคา
10.7 การทดสอบคุณภาพประตู หน้าต่าง ลูกบิดและอุปกรณ์ต่างๆ
10.8 การตรวจสอบการปรับสภาพทางเดิน พร้อมแนว SLOPE น้ำ
10.9 สภาพก๊อกสนาม และสภาพหน้าดินโดยรอบบริเวณก่อสร้าง
10.10 งานเก็บรายละเอียดงานทั้งหมดเพื่อส่งมอบงาน
- ระบุความรับผิดชอบและข้อบกพร่องต่างๆ ของผู้รับเหมา เช่น การก่อสร้างล่าช้า ทิ้งงาน การปรับ หรือการบอกเลิกสัญญา และการรับประกันผลงานหลังจากส่งมอบงานแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยหักเงินประกันผลงานไว้ประมาณ 10 %
- การลงนามและหรือตรายางบริษัท ผู้ว่าจ้าง ผู้รับจ้าง ทุกหน้า อากรสแตมป์ รวมถึงลงนามในแบบ และเอกสารแนบทุกแผ่น โดยเก็บไว้ 2 ชุด ต้นฉบับและคู่ฉบับ
5.4 การส่งงวดงาน โดยทั่วไปเมื่อเนื้องานครบตามงวดผู้รับเหมาจะส่งงวดตามสัญญา ควรมีเอกสารแนบพร้อมภาพประกอบ เพื่อให้เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของตรวจรับ ทั้งนี้ต้องแจ้งล่วงหน้าและนัดตรวจงวด เตรียมพร้อมแก้ไขงาน ซึ่งในขั้นตอนเบิกเงิน ควรระบุระยะเวลาการชำระเงินหลังจากส่งงวดผ่านเพื่อความชัดเจนในสัญญาด้วย
5.5 การส่งมอบบงานและการตรวจรับ
การตรวจรับงานเป็นการตรวจครั้งสุดท้ายเพื่อการรับอาคาร ซึ่งในขั้นตอนนนี้จะเก็บตกงานที่ตกค้างหรือเว้นไว้ ทั้งหมดให้ครบถ้วนตรงตามสัญญา ทั้งนี้การตรวจดังกล่าวจะพิเศษและละเอียดกว่าทุกงวด ทางเจ้าของหรือตัวแทนจะต้องเตรียมข้อมูลดังนี้
- ทำรายการตรวจเพื่อเช็คและทดสอบการใช้งานตามลำดับความสำคัญ เช่น
1.งานระบบ เช่น ระบบไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์ ระบบน้ำประปา ระบบท่อน้ำทิ้ง สุขภัณฑ์และระบบท่อโสโครก ท่อน้ำฝน ท่อระบายน้ำรอบบ้าน ถังบำบัด ถังดักไขมัน ถังเก็บน้ำดี ปั๊มน้ำ
2. การระบายน้ำ หลังคาและการั่วซึม รางน้ำฝน เฉลียง ระเบียง ลานจอดรถ ทางเดิน การฉีดน้ำทดสอบการรั่วซึมของประตูหน้าต่างภายนอก หัวระบายน้ำทิ้งภายในและนอกอาคาร หรือซอกที่เป็นเป็นพื้นให้น้ำขังได้
3. อุปกรณ์การเปิดปิดประตูหน้าต่าง ประตูรั้ว ประตูบานตก บานฝืดติดวงกบ บานไม่ได้ระนาบกระดก หรือบานลอยเหนือพื้นมากเกิน
4. การทดสอบความแข็งแรงการติดตั้งผิววัสดุ เช่น กระเบื้องพื้น ผนัง ความแน่นจากเสียงเคาะ
5. การตรวจสอบความสวยงาม เช่น สี ความเรียบ ผิวผนัง พื้น ฝ้าเพดาน สีไม้ สีบันได้ หรือบานประตู รวมถึงความสะอาดโดยรวม
หมายเหตุ ข้อบกพร่อง (Defect) ข้อง 1-3 จำเป็นต้องแก้ไขเนื่องจากส่งผลต่อการใช้งาน
- ผู้รับเหมาจะต้องส่งใบรับประกัน กุญแจ ตัวอย่างวัสดุ และข้อมูลเพื่อติดต่อเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เจ้าของก็ถือเป็นอันสมบูรณ์ในการก่อสร้างบ้านหนึ่งหลัง
ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอเป็นการอธิบายโดยรวมเพื่อให้เข้าใจอาจไม่สามารถลงในรายละเอียดได้ลึกมากและเป็นการหยิบยกที่เกี่ยวข้องของกับเนื้อหาในบทความนี้เท่านั้น อาจจะทำลงรายละเอียดในเรื่องที่สำคัญต่อไป
ขอบคุณครับ
rin_arch