การตรวจรับบ้าน



 

การตรวจรับบ้านและคอนโดมิเนียม ปัจจุบันมีผลต่อการสร้างบ้านขายที่จะต้องเก็บงานซ้ำซ้อน จากคุณภาพงานที่ตกหล่นบกพร่อง (Defect) จนเกิดอาชีพรับจ้างตรวจบ้าน-คอนโด โดยสามารถตอบโจทย์ความสบายใจของลูกค้าผู้ซื้อก่อนรับบ้านและการโอน จึงขอนำข้อมูลการเตรียมความพร้อมในการตรวจรับ ซึ่งอาจตรวจเอง หรือมีผู้ที่มีความรู้ช่วยตรวจก็ได้ ครับ

โดยสามารถแยกกลุ่มการตรวจรับออกเป็น 2 ส่วน 
1. บ้านโครงการ
- บ้านเดี่ยว
- บ้านแถว (Town house)
- ห้องชุดพักอาศัย (Condo)

 
2. บ้านสร้างเอง (ตามรูปแบบเจ้าของ)

ซึ่งทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวสามารถใช้วิธีการเตรียมความพร้อมได้ ดังนี้

 

ขั้นตอนการตรวจรับบ้าน
1. เตรียมเอกสาร
- สัญญาจะซื้อจะขายและเอกสารแนบสัญญาทั้งหมด เพื่อตรวจสอบขอบเขตงานและข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะ ขนาดที่ดินและตัวบ้าน
- วันนัดโอน, การโอน, การชำระภาษี, ค่าส่วนกลาง, ค่าขอน้ำ-ไฟ
- ก่อนการเข้าตรวจให้สอบถาม บ้านได้ติดตั้ง มิเตอร์น้ำประปาและไฟฟ้า
- การชำระส่วนคงค้างอื่นๆ และการประสานงานเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อเป็นข้อมูลในการตอบรับ

 

2. การเตรียมอุปกรณ์เบื้องต้น
- กล้องถ่ายภาพดิจิตอล เพื่อบันทึกภาพช่วยจำ
- ตลับเมตร สายวัด เพื่อวัดระยะต่าง ถ้าเป็นบ้านขนาดใหญ่ควรใช้สายวัดที่ดินด้วย
- ปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ที่ชาร์ตโทรศัพท์มือถือ เพื่อทดสอบไฟ
- สมุดจด กระดาษโพสอิส หรือกระดาษกาว เพื่อกำหนดตำแหน่ง แต่ระวังกาวจากกระดาษลอกสีผนัง
- ปากกา และดินสอ จดบันทึก
- กระป๋องหรือถังน้ำใบเล็กๆ เพื่อทดสอบการ Slope น้ำในห้องน้ำ ระเบียง
- ก้านโลหะ หรือพลาสติก ลักษณะเป็นก้านยาวประมาณ 60-80 ซม. เพื่อทดสอบการเคาะกระเบื้องพื้นโดยไม่ต้องก้ม
- ผ้าแห้ง เพื่อเช็ดคราบเท้าเวลาเดินย่ำห้องน้ำ หรือน้ำหก
- อื่น

 

3. การเข้าตรวจ
- กำหนดนัดวันตรวจ ควรไปเช้าๆ จะได้ไม่เสียเวลา
- ควรมีสมาชิกในบ้านหรือผู้รู้ ประมาณ 2-3 คนเพื่อช่วยกัน
- ควรกำหนดการเดินให้ชัดเจน โดยปรกติจะมีเจ้าหน้าที่พาตรวจ ทั้งนี้เราควรกำหนดการเดินให้ชัดเจน เพื่อคลุมพื้นที่ได้ทั้งหมด และประหยัดเวลา กันการสับสนวกวน เช่น เริ่มจาก นอกบ้าน เดินวนจากหน้าบ้าน วนซ้ายหรือขวา แล้วกลับมาที่ประตูทางเข้าหลัก และเริ่มเดินจากชั้นล่างทุกห้อง และขึ้นบันไดชั้น 2 ชั้นอื่นๆ ทุกๆห้อง

 

3.1 การตรวจภายนอกบ้าน กรณีบ้านเดี่ยวหรือบ้านที่มีขอบเขตที่ดิน
- วัดระยะขอบเขตที่ดิน ตรวจสอบตามเอกสารขาย
- ตรวจสภาพประตูรั้ว ผิว สี การเปิดเลื่อนและระนาบแนวนอนแนวตั้ง คราบเศษปูนและความสะอาด รวมถึงผิวและสีผนังรั้ว
- ตรวจสนามหญ้ารอบบ้านหรือสวน การปลูกหญ้า ไม้คลุมดิน ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น ตรวจสอบตุ้มให้จมดิน ไม้ค้ำสภาพต้นไม้เป็นต้น
- ตรวจบ่อพักรอบอาคาร ความสะอาดและระดับ ผิวฝาบ่อ
- ตรวจบ่อดักไขมัน ถังบำบัด
- ตรวจลูกลอยถังเก็บน้ำ และความสะอาด ถ้าเป็นถังเก็บน้ำชนิดฝังดินต้องยกขอบฝาถังให้สูงจากดินอย่างน้อย 10-15 ซม. เพื่อกันน้ำลงบ่อ
- ตรวจปั๊ม ทดสอบการใช้งานเปิด ปิด สวิตซ์ และการติดตั้งที่กันน้ำและต่อไฟฟ้า
- ตรวจก๊อกสนาม และสภาพท่อในบ้านทั้งหมด
- ตรวจสอบสภาพผิวลานจอดรถและถนนและทางลาดเข้าบ้าน การระบายน้ำน้ำไม่ขัง ผิวไม่แตกร้าว
- ตรวจหลังคา ฝ้าชายคา
- ตรวจผิวผนังภายนอก และประตูหน้าต่าง

 

3.2 การตรวจภายใน
- พื้น ตรวจสอบผิวกระเบื้องเคาะตรวจสอบการปู ผิวไม้-ปาร์เก้ดูสภาพผิว ผิวลามิเนตดูสภาพผิวและการยุบตัว ผิวรอยต่อและการติดบัวเชิงผนัง
- ผนัง ตรวจสอบผิวปูนฉาบและสีไม่แตกร้าวและความเรียบ สีไม่เป็นสะเก็ด ผิวกระเบื้องเคาะตรวจสอบการปู
- ฝ้าเพดาน ตรวจสอบแนวฝ้า ระดับฝ้าผิวฝ้า รอยต่อ ขอบการจบฝ้าและผนัง ช่อง Service
- ประตู หน้าต่าง
ประตูหน้าต่างไม้ ตรวจการปิดปิด สีร่องรอยต่อบาน อุปกรณ์บานพับลูกบิด แนวและระนาบ ผิวกระจก ขอบบาน
ประตูหน้าต่างอลูมิเนียม ตรวจสภาพผิว การเก็บร่อง การเปิดปิด รูการระบายน้ำ ผิวกระจก อุปกรณ์มือจับและระบบล๊อค
การทดสอบการรั่วซึมประตูหน้าต่างอลูมิเนียมใช้สายยางฉีดน้ำสเปรย์เพื่อตรวจสอบรอยรั่วซึม
- บันได สภาพผิวบันได ความสูงลูกตั้ง ลูกนอน ชานพัก หน้ากว้างบันได ราวจับ
- ราวกันตก ระดับความสูง สภาพผิวราวและราวจับ
- ส่วนตกแต่งๆ
-ไฟฟ้าและสื่อสาร ทดสอบ ปลั๊กสวิซต์ ตรวจสอบแผงควบคุมไฟ ทดสอบแยกที่ละวงจร ดวงโคม กระดิ่งหน้าบ้าน ไฟฉุกเฉิน
ตำแหน่งติดแอร์แยกสวิซต์ ตำแหน่งเครื่องทำน้ำอุ่นแยกสวิซต์
- ระบบท่อ
ท่อน้ำทิ้ง ตรวจสอบความลาดเอียง การระบายน้ำทิ้งท่อการไหล เศษปูน floor drain ท่อน้ำทิ้งครัว
ท่อน้ำดี ตรวจสอบความแรงน้ำปลายก๊อก ฝักบัว Stop vale
ท่อโสโครก ตรวจสอบ ทดสอบ flush ส้วม
ท่ออากาศ ตรวจสอบหัวตัว ที ติดตั้งภายนอกอาคาร
- สุขภัณฑ์ ตรวจสอบสภาพไม่บิ่นแตก ท่อน้ำไม่รัวซึม การทำงานลูกลอยโถส้วมและการตัดน้ำ น้ำไม่ซึมจากถังพัก สามารถปิด เปิด Stop vale ได้สะดวก

 

3.3 การตรวจอื่นๆ
- ป้ายบ้านเลขที่
- ตู้ไปรษณีย์
- ห้องขยะหรือจุดพักขยะ
- ประตูทางเข้าเล็ก
- อื่นๆ

 

 สุดท้ายนี้ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจรับ ส่วนหนึ่งงานก่อสร้างเป็นงานช่างที่อาจคลาดเคลื่อนได้บ้าง เมื่อเราตรวจสอบเจอข้อบกพร่องตกหล่น (Defect) สามารถแยกระดับความรุนแรงของรายการเป็น 2 ระดับ 

1. ระดับที่รับไม่ได้ต้องแก้ไข เช่น งานที่ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ขาดหาย , ส่วนที่ต้องใช้งานชำรุด, งานระบบรั่วซึม, งานความปลอดภัย แหลมคม รั่วซึม น้ำขัง พื้นลื่น เป็นต้น

2. ระดับที่พอยอมรับได้ เช่น งานสี, ผิวผนังไม่เรียบ, รอยต่อ, ความสะอาดเป็นต้น

 

ขอบคุณครับ
rin_arch